ทีมนักหวดหนุ่มไทยไร้เทียมทาน ปราบเวียดนามป้องแชมป์สำเร็จ คว้าเหรียญทองซีเกมส์สมัยที่ 10 รับอัดฉีด 1 ล้าน ในขณะที่ทีมหญิงพลาดพ่ายอินโดนีเซีย ได้เหรียญเงินไปครอง
แข่งขันเทนนิส กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่สนามเทนนิส ภายในสนามกีฬาแห่งชาติมรดกเตโช กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ทีมนักหวดหนุ่มไทย ได้แก่ "บูม" กษิดิศ สำเร็จ, "สอง" ยุทธนา เจริญผล, "แซค" ฐานทัพ สุขสำราญ และ "ณัฐ" ปรัชญา อิสโร ซึ่งเป็นชุดคว้าเหรียญทองทีมชายในซีเกมส์ครั้งก่อน ลงสนามป้องกันแชมป์กับ "เวียดนาม" ที่ตัดเชือกชนะ อินโดนีเซีย 2-1 เซต โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 ไทยกับเวียดนามเคยพบกันในรอบชิงชนะเลิศเพียง 2 ครั้ง ผลัดกันแพ้ชนะ
มาถึงการแข่งขันในครั้งนี้ ทีมชายไทย ที่มี "โค้ชเบิ้ม" นายธนากร ศรีชาพันธุ์ เป็นผู้ฝึกสอน ได้วางตัวผู้เล่น ส่ง "สอง" ยุทธนา เจริญผล นักเทนนิสหนุ่มอ่างทอง วัย 22 ปี มือ 960 ของโลก พบกับ ตรินห์ ลิน เกียง วัย 25 ปี มือ 1181 ของโลก ผลปรากฏว่า เซตแรก ยุทธนา พลาดท่าพ่ายก่อน แต่เจ้าตัวยังไม่ท้อ ตั้งหลักสู้ใหม่ เรียกฟอร์มเก่งออกมาทำงาน จนแซงเอาชนะได้ 2-1 เซต 3-6, 7-5 และ 6-4 พาทีมไทยขึ้นนำ 1-0 คู่
จากนั้นเดี่ยวมือหนึ่ง "บูม" กษิดิศ สำเร็จ นักเทนนิสหนุ่มกรุงเทพฯ วัย 22 ปี มือ 637 ของโลก พบกับ ลี ฮวง นัม อายุ 26 ปี มือ 264 ของโลก ผลปรากฏว่า ดวลกันสนุกตั้งแต่เซตแรกและเป็น กษิดิศ ที่ชิงทำแต้มได้มากกว่า คว้าชัยได้ก่อน และยังเล่นได้ตามมาตรฐานของตัวเอง จนเก็บชัยได้ 2 เซตรวด ด้วยสกอร์ 6-4 และ 6-3 ส่งผลให้ ทีมนักหวดหนุ่มไทย ชนะ ทีมเวียดนาม 2-0 คู่ ได้เหรียญทองมาครอง ส่วนเหรียญทองแดง อินโดนีเซีย กับ มาเลเซีย ครองร่วมกัน
ทั้งนี้ นับเป็นการคว้าเหรียญทองประเภททีมชาย สมัยที่ 10 ของทีมไทย หลังจากเคยได้แชมป์มาแล้ว 9 สมัย (ปี 1965 ที่มาเลเซีย, ปี 1973 ที่สิงคโปร์, ปี 1989 ที่มาเลเซีย, ปี 1991 ที่ฟิลิปปินส์, ปี 1995 ที่เชียงใหม่, ปี 1999 ที่บรูไน, ปี 2007 ที่นครราชสีมา ปี 2015 ที่สิงคโปร์ และปี 2022 ที่เวียดนาม โดยในปี 2013, 2017 และ 2019 ไม่มีการแข่งขันเทนนิสประเภททีม)
นอกจากนี้ ยังเป็นเหรียญทองแรกของทีมเทนนิสไทยในศึกซีเกมส์ครั้งนี้ โดยนายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า จะมอบอัดฉีดให้เหรียญทองละ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ทีมเทนนิสไทยยังเหลือการแข่งขันประเภทบุคคลอีก 5 ประเภทที่ยังมีลุ้นเหรียญรางวัล ได้แก่ ชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว ชายคู่ หญิงคู่ และคู่ผสม
ส่วนประเภททีมหญิง รอบชิงชนะเลิศ ทีมนักหวดสาวไทย ประกอบด้วย "รวงข้าว" ลัลนา ธาราฤดี, "ออมสิน" อัญชิสา ฉันทะ, "เอิร์ธ" เพียงธาร ผลิพืช และ "ลักส์" ลักษิกา คำขำ ซึ่งเป็นทีมวาง 1 พบกับ ทีมนักหวดสาวอินโดนีเซีย โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 ไทยกับอินโดนีเซียเจอกันในรอบชิงฯ มาแล้ว 12 ครั้ง ไทยชนะเพียง 4 ครั้ง
ส่วนการพบกันในครั้งนี้ ทีมไทยส่ง อัญชิสา ฉันทะ วัย 20 ปี สาวประจวบคีรีขันธ์ มือ 524 ของโลก ลงหวดในฐานะเดี่ยวมือสอง พบกับ อัลดิลา ซูตเจียดี้ วัย 28 ปี มือ 623 ของโลก ผลปรากฏว่า เซตแรก สู้กันดุเดือดถึงไทเบรก ซึ่ง อัญชิสา ตามในไทเบรกถึง 3-6 ก่อนจะแซงเอาชนะได้อย่างหวุดหวิด และพยายามเล่นให้ได้ตามมาตรฐานของตัวเอง จนเก็บเซตสองได้อีก สรุป อัญชิสา ชนะ 2-0 เซต 7-6 ไทเบรก 8-6 และ 6-3 พาทีมไทยขึ้นนำทีมอินโดนีเซีย 1-0 คู่
จากนั้นเป็นการหวดของเดี่ยวมือหนึ่ง "รวงข้าว" ลัลนา ธาราฤดี ดาวรุ่งไทยวัย 18 ปี สาวนครศรีธรรมราช มือ 360 ของโลก พบกับ พริสก้า เมเดลีน นูโกรโฮ่ ดาวรุ่งวัย 19 ปีของอินโดนีเซีย มือ 279 ของโลก ผลปรากฏว่า ลัลนา พยายามสู้อย่างเต็มที่ ก่อนพ่ายไปอย่างน่าเสียดาย 1-2 เซต 6-3, 3-6 และ 3-6 เป็นผลให้ ไทยกับอินโดนีเซีย เสมอกัน 1-1
ประเภทคู่ ที่จะชี้ชะตาทีมชนะ ทีมไทยส่ง "เอิร์ธ" เพียงธาร ผลิพืช กับ "ลักส์" ลักษิกา คำขำ คู่มืออันดับ 142 กับ 226 ของโลก ตามลำดับ พบกับ อัลดิลา ซูตเจียดี้ กับ เจสซี่ พริสกิล่า รอมปีส์ คู่มืออันดับ 30 และ 151 ของโลก ผลปรากฏว่า คู่ไทยสุดต้ายพ่าย 2 เซตรวด 3-6, 5-7 สรุป ทีมไทย แพ้ ทีมอินโดนีเซีย 1-2 คู่ อินโดนีเซีย ได้เหรียญทองไปครอง ส่วนทีมไทยได้เหรียญเงิน สำหรับเหรียญทองแดงเป็นของ เวียดนาม กับ กัมพูชา
แสดงความคิดเห็น