หากนั่งนับถอยหลังจะเหลือเพียงไม่กี่สิบวัน มหกรรมกีฬาแห่งชาวอาเซี่ยน "ซีเกมส์ ครั้งที่ 32" จะเริ่มขึ้น ณ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566

 ครั้งแรกที่ กัมพูชา จัดตามคิวของ 11 ประเทศสมาชิก และเป็นครั้งแรกที่ กัมพูชา รับเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา หลังจากก่อนหน้านี้จะยกมือขอบายมาโดยตลอด เนื่องจากความพร้อมในเรื่องสนาม โรงแรมที่พัก รวมถึงบุคลากร ที่สำคัญคือเศรษฐกิจที่ถือว่ายากจนแห่งหนึ่งของโลก

 ยุคสมัยนี้ กัมพูชา หลังจากสนิทสนมกับ จีน หลายอย่างที่ มังกรจีน เข้ามาสัมปทานจัดสร้างให้ กัมพูชา จึงมั่นใจว่าพร้อมแล้ว และรับเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 32 ณ กรุงพนมเปญ 

 การเป็นเจ้าภาพ กัมพูชา ถือเป็นการเปิดประเทศด้วยความคาดหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อนักกีฬาสมาชิกจะยกทัพเดินทางเข้ามา สร้างรายได้ให้ชาวกัมพูชากว่า 16 ล้านคนได้ลืมตาอ้าปาก เจ้าภาพ น้องใหม่จึงใส่กีฬาไปถึง 36 ชนิดกีฬา ชิงชัยทั้งสิ้นกว่า 583 เหรียญทอง เรียกได้ว่าจัดเต็มกันเลยทีเดียว

 เมื่อเทียบกับประเทศน้องใหม่ที่จัด ซีเกมส์ ครั้งแรกอย่าง บรูไน จัดไป 21 ชนิดกีฬา และ ซีเกมส์ ที่ประเทศ ลาว ก็จัดการแข่งขันเพียง 25 ชนิดกีฬาเท่านั้น 

 การรู้จักประมาณตนทำให้ บรูไน และ ลาว จัดผ่านพ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ตามสภาพ แต่เมื่อมองถึง กัมพูชา อดห่วงไม่ได้ว่า จากจำนวนชนิดกีฬาที่มากมาย การจัดการจะยิ่งยุ่งยาก งบประมาณการแข่งขัน อุปกรณ์ บุคลากร รวมถึงการบริการรถรับส่งให้นักกีฬาเจ้าหน้าที่ อาหาร ที่พัก และอีกสารพัดปัญหาที่จะเกิดขึ้น เหล่านี้ กัมพูชา พร้อมแล้วจริงหรือไม่

 อย่างน้อยที่สุดมีสัญญานส่งให้น่ากังวลกรณีที่พัก หมู่บ้านนักกีฬา ที่เจ้าภาพตั้งสโลแกน "ใช้ชีวิตเหมือนเป็นนักกีฬาโอลิมปิก" เมื่อถึงวันนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จ 

 แม้คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ยืนยันการสร้างจะเสร็จทันกำหนดคือภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 และจะมีการติดเตียง 5,000 เตียง พร้อมตกแต่งให้แล้วเสร็จวันที่ 20 เมษายน 2566 ก่อนที่จะมีการทำพิธีเปิดหมู่บ้านนักกีฬาวันที่ 27 เมษายน 2566 เพื่อรองรับนักกีฬาที่คาดว่าจะมากันเต็มความจุช่วงพิธีเปิดแข่งขันวันที่ 5 พฤษภาคม 2566

 เรียกว่าเวลากระชั้นอย่างนี้ วัดใจกันไปเลยทีเดียว และนี่คือปัญหาล่าสุดที่ยังต้องลุ้นกันอยู่ทุกวันวี่

 โดยก่อนหน้านี้ กัมพูชา สร้างปรากฏว่าที่ชาติเจ้าภาพอื่นไม่เคยทำมาก่อน โดยการใช้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพ จัดการ "หักดิบ" จนกลายเป็นปัญหาสร้างความร้าวฉานต่อมวลสมาชิก

 เรื่องเริ่มปูดหลังบิดกีฬามวยซีเกมส์ เปลี่ยนชื่อเป็น "กุน ขแมร์" ให้ชิงชัย 17 เหรียญทอง ถือว่ามากสุดในกีฬาต่อสู้ เท่านั้นยังไม่พอเจ้าภาพยังจัดให้ชิงชัยเพิ่มอีก 2 เหรียญทองในประเภทการร่ายรำ รวมเป็น 19 เหรียญทอง เมื่อเทียบน้อยสุดเคยชิง 5 เหรียญทองในซีเกมส์ 2017 ราวฟ้ากับเหว

 แม้สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ หรือ "อิฟม่า" ออกมาแอคชั่นยืนยันไม่รับรอง "กุน ขแมร์" หากประเทศสมาชิกฝ่าฝืนจะถูกแบน และประเทศไทยนำทีมไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ดูเหมือนเจ้าภาพยืนยันมีชาติพันธมิตรพร้อมร่วมอย่างน้อย 4 ชาติ และสามารถแข่งขันได้

 ถึงตอนนี้ ชัดเจนว่ามี ลาว แล้วหนึ่ง หลัง "สายสมร ไชยสร" ประธานสหพันธ์มวยลาว ยืนยันจะส่ง แถมเหน็บมวยไทยในโลกโซเซี่ยล จนคนไทยทนไม่ได้จัดทัวร์ไปลงจนเป็นปัญหาลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องระดับชาติ

 ไม่เพียงแต่ จากมวย เป็น กุน ขแมร์ เรื่องกีฬาเพาะกาย ก็ต้องเก้อ เมื่อ "กัมพูชา" ตัดออกจากการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 จากเดิมวางไว้ให้ชิงชัย 5 รุ่น เพียงเพราะชาติตัวเองมีปัญหาเรื่องนักกีฬาตรวจพบสารกระตุ้น ทำให้นักกีฬาหมดสิทธิ์แข่งเพาะกายทุกระดับ ก็เลยไม่จัด 

 ส่วนในกีฬาแบดมินตัน สากลทั่วโลกจะจัดชิงชัยมากสุด 7 ประเภทชาย-หญิง คือทีม, เดี่ยว, คู่ และคู่ผสม แต่ กัมพูชา ไปเพิ่มเหรียญที่ 8 คือประเภททีมผสม แต่ห้ามประเทศไทย รวมถึง มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และ สิงคโปร์ เข้าร่วมทำการแข่งขัน

 นอกจากนี้ยังมีกีฬาซอฟท์เทนนิส ที่มีการชิงชัย 7 เหรียญทอง เจ้าภาพกำหนดชาติอื่นส่งได้เพียง 5 ประเภท ยกเว้นเจ้าภาพที่สามารถส่งได้ทุกประเภท ทั้งยังระบุชัดห้าม ไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่งแข่งขันในประเภทชายคู่ กับคู่ผสม 

 ส่วนเรือยาว ประเภท 3 คนหญิง เจ้าภาพกำหนดไว้ว่ามีแค่ 7 ประเทศเท่านั้นที่เข้าแข่งขันได้คือ กัมพูชา, สิงคโปร์, เวียดนาม, ลาว, บรูไน, ติมอร์เลสเต และมาเลเซีย โดยที่ไทย ไม่สามารถส่งเข้าชิงชัยเช่นกัน

 ไม่เพียงเท่านี้ กัมพูชา เจ้าภาพ ยังถอด “ฟีฟ่า ออนไลน์” และ “ROV”  กีฬาอีสปอร์ตที่มีความนิยมและเป็นสากลออกจากการแข่งขันอีสปอร์ต พร้อมใส่ “วาโลแรนต์” (Valorant) อันเป็นที่นิยมในกัมพูชาเข้าไปแทน ทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตของสิงคโปร์ และ บรูไน  ถอนตัวจากการแข่งขันทันที เนื่องจากมองว่าไม่สมเหตุสมผล

 และเรื่องร้อนล่าสุด กัมพูชา เจ้าภาพ ประกาศจะถ่ายทอดสดเพียงแค่ พิธีเปิด พิธีปิด และการแข่งขันชนิดกีฬาเพียง 16 ชนิดเท่านั้น จากทั้งหมด 36 ชนิดที่จัดการแข่งขัน และจะขายลิขสิทธิ์ในราคาที่แพงเวอร์

 โดยชนิดกีฬาที่ถ่ายทอดสดคือ กุน ขแมร์, คาราเต้, กรีฑา, กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำและกระโดดน้ำ), เซปักตะกร้อ-ชินลง, มวยสากลสมัครเล่น, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, ฟุตบอล, เทควันโด, เปตอง, ปันจักสีลัต, อีสปอร์ต, เทเบิลเทนนิส และ ฮอกกี้

 พร้อมตั้งราคาขายค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 800,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 28 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจ้าภาพไม่มีการขาย เพียงแต่ขอเก็บค่าธรรมเนียม โดยที่ ฟิลิปปินส์ ราคาแค่ 5,000  และล่าสุดเวียดนามก็แค่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

 ถึงตอนนี้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของไทย ก็ยังรอดูท่าทียังไม่มีทีวีช่องไหนออกโปรโมทกำหนดการถ่ายทอดสด ที่สำคัญชาวโซเซี่ยลลงมติรวมใจส่งสารถึงฝ่ายรัฐบาล แพงไปลั่นไม่ต้องซื้อ ไม่ได้ดูก็ไม่เป็นไร

 ในขณะที่ กกท. ยืนยันต้องลดราคา ก็คงต้องลุ้นกันว่า การเจรจาการถ่ายทอดที่นัดหมาย 5 เมษายน โดยคณะกรรมการโอลิมปิกไทยอาสาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย จะจบลงอย่างไร แต่เชื่อว่าคนไทยหลายคนภาวนาขอให้การเจรจาล่ม ผลคือ ไทยไม่ซื้อ

 หากเป็นเช่นนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่แฟนกีฬาชาวไทยไม่ได้เชียร์กีฬาซีเกมส์แบบสดๆ  !!