ในช่วงระหว่างรอให้ฟุตบอลลีกในบ้านเรา กลับมาแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบกันอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดมีการประกาศยืนยันว่าไทยลีก จะกลับมารีสตาร์ทอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
ด้วยการแข่งขันที่กินระยะเวลานานกว่าปกติ แน่นอนว่าส่งผลโดยตรงกับเรื่องโปรแกรมการแข่งขันในฤดูกาลหน้า ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ณ เวลานี้ ก็กำลังจะเข้าสู่การแข่งขันซีซั่นใหม่กันแล้ว
นอกจากฟุตบอลระดับอาชีพแล้ว ในระดับเยาวชนก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะแต่ละรายการที่พวกเขาจะได้โอกาสประชันฝีเท้า กลับถูกเลื่อนหรือยกเลิกกันหมด ยิ่งเป็นวัยที่กำลังพัฒนา หากร้างสนามไปนานๆ ย่อมไม่ส่งผลดีกับพวกเขาแน่
แต่ในอีกมุมหนึ่ง จากโปรแกรมแข่งขันของเยาวชนที่เคยเตะกับแบบถี่ยิบ ทั้งทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการ หรือแม้แต่รายการเดินสายตามที่ต่างๆ ที่จัดกันขึ้นมา พอเจอสถานการณ์ที่ต้องยกเลิก ก็น่าจะทำให้บรรดานักเตะเยาวชนได้พักกระดูกกันบ้าง
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการประชุมระหว่าง สมาคมฯ และ กรมพลศึกษา มีการพูดถึงประเด็นที่อยากจะให้การแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนของประเทศไทย มีจำนวนเกมที่พอเหมาะ ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การพักผ่อน และการเรียน ของนักกีฬา
...ในต่างประเทศหลายๆที่ถึงขั้นมีกฎหมายมารองรับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เด็กๆ เยาวชน อนาคตของชาติ ใช้ร่างกายแข่งขันหนักจนเกินไป เพราะต้องไม่ลืมว่าเยาวชนเหล่านี้เขาต้องการทั้งการฝึกฝน และพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อให้ร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก มันได้มีเวลาเติบโตอย่างแข็งแกร่งบ้าง...
ภาพตัดกลับมาที่ประเทศไทย เดินสายเตะกันตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ บางวัน บางรายการ เตะเช้า-ต่อบ่าย-ชิงฯอีกทีตอนเย็น (แล้วดูแดดบ้านเรา) หนักกว่านั้นคือถ้าเด็กคนไหนเก่งๆ ก็จับมาแบกอายุ ข้ามรุ่น เล่นกับเพื่อนเสร็จ ต้องไปช่วยรุ่นพี่แข่งต่อ (ไม่ได้หมายความว่าแบกอายุแล้วไม่ดี แต่นี่ให้เด็กมันเล่นกับเพื่อนจบต้อนเช้า พอสายๆไปเตะกับรุ่นพี่ต่อ มันก็ไม่ใช่ !)
อย่างทีมชาติญี่ปุ่น ที่เขาส่งทีมเยาวชน U19 มาแบกอายุเตะในรายการ U23 นั่นเพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มประสบการณ์ โดยที่ไม่ได้มาคาดหวังว่าจะต้องได้แชมป์กลับไปนะ หรือถ้าแพ้กลับมาก็ไม่ต้องไปนั่งด่าเด็ก แต่เขาให้เด็กๆ ได้เล่นเต็มที่ ถึงจะแพ้ก็ให้รู้ว่าแพ้ เพื่อเก็บความรู้สึกนี้ไปเอาคืนตอนโตขึ้น หรือนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เพดานการพัฒนาของเด็กไทยมันถึงขีดจำกัดเร็วเกินไป...
เหมือนที่หลายคนรู้สึกว่าเด็กไทยมันเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่พอโตมาแล้วหายไปไหนหมด ? บางคนเจ็บเรื้อรังตั้งแต่ยังใช้คำว่าดาวรุ่งด้วยซ้ำ ก็เพราะการที่พวกเขาต้องกรำศึกหนักมาตั้งแต่เด็กๆ ใช้ร่างกายหนักเกินไปจนมันไม่ได้มีการฟื้นฟู และพัฒนาตัวมันเองอย่างถูกต้อง เด็กบางคนแกนไปเลย ทั้งๆที่หน่วยด้านดี มีอนาคต
ในอีกมุมหนึ่งก็เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน บางคนเล่นเพื่ออยากมีเงินมาช่วยเหลือทางบ้าน หรือพอเหลือเก็บไว้กินขนม แต่นั่นแหล่ะ
สุดท้ายมันก็ย้อนกลับมาที่ผู้ใหญ่ ว่าจะมีวิธีการจัดการอย่างไร ให้เยาวชนไทยได้พัฒนาอย่างถูกวิธี อย่างเช่นถ้าฟุตบอลในระดับเยาวชนของไทยมีการแข่งขันรายการที่เป็นทางการมากขึ้น มีรายได้ที่แน่นอนมารองรับ ก็น่าจะทำให้พวกน้องๆหนูๆมีทางเลือกมากขึ้น
เด็กไทยเก่ง เจอเกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ทีมจากยุโรป ในระดับเยาวชน บอลนักเรียน น้องเล่นไล่ตบพวกรุ่นเดียวกันซะยับเยิน แต่พอถึงเวลาเจอของจริงในระดับอาชีพ ก็อย่างที่เห็นและรู้ๆกันอยู่...
ฝากถึงผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ว่าถ้าหากรักวงการฟุตบอลและอยากเห็นทีมชาติไทยไปบอลโลกได้จริงๆ ก็ควรจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆตรงนี้ เพราะอย่าลืมว่าเด็กตัวเล็กๆในวันนี้นี่แหล่ะ ที่จะพาทีมชาติไทยของเราไปฟุตบอลโลกได้...
ไม่ใช่จะมาวาดฝันเอาตอนที่พวกเขาโตขึ้นมาแบบผิดๆ สุดท้ายมันไม่เกิดการพัฒนาที่แท้จริง เพราะสายเกินไปแล้ว...
แสดงความคิดเห็น