การจะทำทีมกีฬาสักทีมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องหาตัวนักกีฬาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคืองบประมาณในการทำทีม
วิทยุการบินฯ มินิวอลเลย์บอลเป็นการแข่งขันวอลเลย์บอลยุวชนอายุไม่เกิน 12 ปี ซึ่งเป็นรุ่นที่เล็กที่สุดในระดับยุวชนของไทย ทีมที่เข้าร่วมแต่ละทีมจึงเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำคือการเฟ้นหานักกีฬา
แต่ละทีมก็จะมีวิธิการคัดสรรที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างประเภทหญิงทีมโรงเรียนบ้านกันโทรกประชาสรรค์ จากจังหวัดศรีสะเกษ
โค้ชปาน อัมรินทร์ สมานมิตร ผู้ฝึกสอนของทีมโรงเรียนบ้านกันโทรกประชาสรรค์ โค้ชปานเล่าให้ฟังว่า การค้นหาเด็กของทีมค่อนข้างทำได้ยาก เพราะเป็นโรงเรียนที่มีขนาดเล็กและงบในการทำทีมค่อนข้างจำกัด จึงใช้เด็กในพื้นที่ของตัวเองซะเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ในแต่ละปีสรีระของเด็กไม่เท่ากัน บางปีสูง บางปีก็เล็ก
โรงเรียนบ้านกันโทรกประชาสรรค์
แต่ทีมก็มีความโชคดีอยู่อย่าง ที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ชุมชนบ้านกันโทรกเป็นชุมชนที่ชื่นชอบกีฬา โดยเฉพาะกับวอลเลย์บอล ตั้งแต่ที่โค้ชปานเข้ามาทำทีมในปี 2551 และได้แชมป์ภาคในปี 2554 ในปี 2556 ชาวบ้านได้ระดมทุนจัดตั้งผ้าป้าสร้างโรงยิมให้กับทีมโรงเรียน แม้ว่าพื้นจะไม่ใช้พื้นยาง เป็นพื้นซีเมนต์ที่ได้รับการขัดให้มีความมัน ไม่ขรุขระ สามารถใช้ในการฝึกซ้อมได้
โรงยิมของทีมบ้านกันโทรก
ด้วยความชื่นชอบกีฬาของคนในชุมชน ทำให้ผู้ปกครองหลายคนสนใจและส่งเสริมให้ลูกหลานเล่นวอลเลย์บอล โดยในช่วงเย็นหลังจากเสร็จสิ้นการทำงาน ผู้ปกครองของน้องๆก็จะมาดูการฝึกซ้อม ทำกับข้าว หรือซื้อขนมมาฝากเด็กให้อิ่มท้องเพื่อให้มีแรงฝึกว้อมอย่างเต็มที่
อาหารมื้อพิเศษก่อนมาแข่งรอบชิงประเทศ
แน่นอนว่าการทำทีมมันก็ต้องใช้เงิน ซึ่งจุดนี้โรงเรียนบ้านกันโทรกประชาสรรค์ได้รับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากผู้ปกครอง และคนในชุมชน หากมีการแข่งขันที่ไหนก็มักจะรวมตัวกันไปเชียร์ถึงขอบสนาม โค้ชปานแอบเม้าท์ว่า แข่งกัน 7 จังหวัด กองเชียร์ของบ้านกันโทรกรวมกันเยอะกว่ากองเชียร์ทีมที่เหลืออีก โดยผู้ปกครองจะช่วยเหลือกันหากใครไม่มีรถก็จะติดสอยคนที่มีรถ แชร์ค่าน้ำมันกันเพื่อมาเชียร์ลูกหลานของตัวเอง
ผู้ปกครองที่เดินทางมาให้กำลังใจ
เมื่อถามถึงความช่วยเหลือจากโรงเรียน ต้องบอกว่าตามตรงว่า งบประมาณจากภาครัฐที่โรงเรียนได้รับมา 60% จะใช้ในเรื่องของวิชาการเป็นหลัก ในส่วนของกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนอาจจะได้น้อย แต่ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลปราสาท (นายสุบรรณ นันทชาติ) ให้ความช่วยเหลือโดยให้ทีมทำโครงการเสนอเพื่อของบประมาณซึ่งก็พอเป็นค่าใช้จ่ายในการทำทีม
ส่วนสำคัญของทีมที่ถือว่าเป็นจุดแข็งคือแรงสนับสนุนจากชุมชนและผู้ปกครอง ทำให้ผลงานที่ออกมาทำได้ดีแต่ก็ไม่ใช่ทุกปี ด้วยเป็นรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีนักกีฬาโตสุดคือนักเรียนในชั้นประถม 6 ซึ่งบางปีก็มีเด็กป.6 1 คนบ้าง 2 คนบ้าง ซึ่งจะมีการผสมผสานน้องๆเข้ามาด้วย บางครั้งก็ผลงานดีเข้าสู่รอบชิงประเทศ บางครั้งก็ตกรอบก่อน
ไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านก่อนเดินทางมาแข่งขันรอบชิงประเทศ
ส่วนในปีนี้ที่สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยได้ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในรอบนี้ทางผู้อำนวยการขอโรงเรียน คุณเดชา จันดาบุตร ได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆด้วยกันซึ่งก็อนุเคราะห์มาให้ทีมตามกำลังของตัวเอง โค้ชปานเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากห้างร้านต่างๆในจังหวัดศรีสะเกษ
ตัวโค้ชเองก็กู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายสำรอง เพราะทางวิทยุการบินฯดูแลเรื่องที่พักให้กับทีมที่ต้องการ และยังมอบเงินสนับสนุนทีมอีกจำนวนหนึ่ง เด็กได้นอนในห้องพักที่มีแอร์เย็นๆก็ถือว่าเป็นกำลังใจเล็กๆสำหรับนักกีฬา
การดูแลเด็กในวัยนี้สำหรับโค้ชปานไม่ใช่เรื่องยาก เพราะน้องๆเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย สั่งอะไรก็ทำตามได้อย่างดี โดยเฉพาะเวลาที่โค้ชติดประชุมหรือติดสอน มาคุมการฝึกซ้อมล่าช้า แต่เด็กๆก็ฝึกซ้อมตามที่โค้ชได้สั่งเอาไว้ได้
ซึ่งแน่นอนว่าน้อง ๆ กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียน บ้านกันโทรกประชาสรรค์จะมีแนวทางปฏิบัติคือ นักเรียนจะต้องเข้าเรียนตามตารางเรียนในแต่ละวัน นอกเหนือจากเวลาเรียนจึงจะสามารถฝึกว้อมได้เท่านั้น จะไม่มีการเบียดเบียนเวลาเรียน ซึ่งเป็นนโยบายที่ผอ.คนเก่าได้ทำไว้ และส่งผลมาถึงปัจจุบัน
การฝึกซ้อมของน้องๆในแต่ละวัน เด็กๆจะตื่นในเวลาตี 5 ซ้อมยาวไปจนถึง 8 โมงเช้า โค้ชจะปล่อยให้กลับบ้านไปทำธุระส่วนตัว เตรียมตัวมาเรียนหนังสือ โดยจะต้องมาให้ทันเวลาเรียนคาบแรกในเวลา 9 โมงเช้า ส่วนเวลาเย็นจะซ้อมหลังจากเลิกเรียนยาวไปถึง 1-2 ทุ่ม โดยช่วงไหนที่ใกล้จะแข่งขันเด็กๆจะนอนกันที่โรงยิมเพื่อจะได้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ แต่หากไม่มีแข่งขันก็จะกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้าน
การฝึกซ้อมประจำวัน
ยังมีรายละเอียดอีกมากมายของการทำทีม พอได้ฟังแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ ในการทำทีมกีฬาโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ๆ แบบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชื่นชมกับทีมบ้านกันโทรกประสรรค์คือความร่วมไม้ร่วมมือและความเข้าใจของผู้ปกครองและคนในชุมชนที่ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กๆได้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์และช่วยผลักดันพวกเขาให้ก้าวไปสู่เส้นทางของนักกีฬาได้
แสดงความคิดเห็น