แม้จะยังไม่จบการแข่งขันแบบบริบูรณ์ แต่ได้บทสรุปในเรื่องของ "เจ้าเหรียญทอง" กันไปเป็นเรียบร้อยแล้ว สำหรับมหกรรมกีฬาอาเซียน หรือ ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ดินแดนตากาล็อก
โดย "เจ้าภาพ" ฟิลิปปินส์ สามารถทะยานเข้าป้าย "เบอร์หนึ่ง" ประจำการแข่งขัน ซีเกมส์ 2019 ได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ หลังลงทุนบรรจุกีฬามากกว่า 56 ประเภท เพื่อให้ชิงชัยกันมากถึง 500 กว่าเหรียญทอง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของมหกรรมกีฬาอาเซียน และมากกว่าในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง โอลิมปิก ที่แข่งขันกันเพียง 30 กว่าชนิดกีฬาเท่านั้น
สำหรับซีเกมส์ในครั้งนี้ ฟิลิปปินส์ เลือกบรรจุกีฬาพื้นบ้านอย่าง อาร์นิส ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเป็นตัวชูโรงในการโกยเหรียญทอง และมีชาติที่เข้าร่วมแข่งขันเพื่อชิงชัย 20 เหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้เพียง 4 ประเทศ นั้นก็คือ เวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมาร์ และ "เจ้าภาพ" ซึ่งกวาดไปได้มากที่สุดถึง 14 เหรียญทองเลยทีเดียว
จึงกลายเป็นเรื่องของความคุ้นชินของการแข่งขันซีเกมส์ไปเสียแล้ว ซึ่งหลายคนเปรียบเปรยให้เป็น "กีฬาสีอาเซียน" เสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าชาติใดรับหน้าเสื่อเป็น "เจ้าภาพ" ก็มักจะชิงความได้เปรียบด้วยการบรรจุกีฬาที่ชาติของตนเองถนัดเอาไว้เยอะๆ โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องใช้สายตาของกรรมการช่วยให้คะแนนตัดสิน แถมยังให้มีการชิงเหรียญทองเอาไว้มากๆ เพื่อให้ประเทศของตนเองไปสู่เป้าหมายคือการเป็น "เจ้าเหรียญทอง" บนแผ่นดินเกิดนั่นเอง
เท่ากับว่า ฟิลิปปินส์ ได้สัมผัสบัลลังก์เจ้าเหรียญทองซีเกมส์เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากหนแรกตอนที่สวมบทเป็นเจ้าภาพเมื่อ 14 ปีก่อน โดยครั้งนั้นโกยไปได้ทั้งหมด 113 เหรียญทอง ส่วนครั้งนี้กวาดไปได้เยอะที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองมากกว่า 140 เหรียญทอง ทั้งนี้ดินแดนตากาล็อกเคยรับหน้าที่จัดการแข่งขันซีเกมส์มาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง หนแรกในปี 1981, หนที่ 2 ในปี 1991, หนที่ 3 ในปี 2005 และหนที่ 4 คือในปี 2019
แม้จะเต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ที่มาจากเรื่องความไม่พร้อมของทาง "เจ้าภาพ" ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางจากปัญหาจราจรที่แสนจะติดขัดอยู่ในขั้นระดับโลก, สนามแข่งขันที่เป็นแบบสร้างกันไปแล้วก็แข่งกันไป, โรงแรมที่พักที่จัดให้ไม่ค่อยจะได้มาตรฐาน, อาหารที่เตรียมเอาไว้ไม่ค่อยจะเพียงพอ รวมถึงเรื่องของการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งแต่ละชาติต่างโดนกันถ้วนหน้าเลย ไม่เว้นแม้กระทั่งทัพนักกีฬาจากดินแดนตากาล็อกเองเสียด้วยซ้ำ
ทว่า ฟิลิปปินส์ กลับได้รับเลือกจาก SPIA Asia Awards หน่วยงานภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกีฬาแห่งเอเชีย ให้ได้รับรางวัลผู้จัดการแข่งขันซีเกมส์ยอดเยี่ยม ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างในเรื่อง คอรัปชั่น จากกรณีที่คณะกรรมการจัดงานการแข่งขันกีฬาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์ (PHISGOC) ถูกกล่าวหาว่านำเงินงบประมาณสำหรับการจัดการแข่งขันไปใช้ในทางทุจริต โดยทาง โรดริโก้ ดูแตร์เต้ ผู้นำสูงสุดดินแดนตากาล็อกได้สั่งให้มีการสอบสวนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ซึ่งชิงชัยกันอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ในช่วงหลังพิธีเปิดวันที่ 30 พ.ย. ได้ผ่านพ้นไปด้วยดีบ้างและไม่ดีบ้าง ส่วนหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของปิดฉากกันแล้ว โดยพิธีปิดการแข่งขันจะมีขึ้นที่นิว คลาร์ก ซิตี้ แอธเลติก สเตเดี้ยม เมืองคลาร์ก ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ "ไฟว์ เคอร์เรนต์ส" ผู้กำกับการแสดงในพิธีเปิดและปิดมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาแล้ว
ในส่วนของกำหนดการพิธีปิดซีเกมส์ 2019 จะเริ่มต้นด้วยการแสดงเต้นจาก เอต้า เฟสติวัล เดนเซอร์ ของคณะโปรัค เดอะ มะนิลา คอนเสิร์ต ต่อด้วยการกล่าวต้อนรับและเปิดเพลงชาติฟิลิปปินส์ พร้อมชมไฮไลท์ของการชิงชัยกันมาทั้ง 12 วันผ่านบทบทเพลงประจำการแข่งขันที่มีชื่อว่า WE WIN AS ONE ก่อนที่ขบวนพาเหรดของทัพนักกีฬาทั้ง 11 ชาติจะเดินเข้าสู่สนาม จากนั้น อลัน ปีเตอร์ คาเยโตน่า ประธานจัดการแข่งขัน และ อับราฮัม โตเลนติโน่ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของฟิลิปปินส์จะกล่าวปิดการชิงชัย
หลังจากนั้นจะเข้าสู่พิธีมอบธงซีเกมส์ต่อให้ตัวแทนจาก เวียดนาม ซึ่งจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพครั้งต่อไปที่กรุงฮานอยในปี 2021 ตามด้วยการเปิดเพลงชาติเวียดนาม และการแสดงจากเจ้าภาพในครั้งหน้า ปิดท้ายด้วยการจุดพลุไฟและการแสดงแสงสีเสียงตระการตาแล้วต่อด้วยคอนเสิร์ตจากศิลปิน "แบล็ค อายด์ พีส์" (Black Eyed Peas) วงดนรีฮิปฮอปชื่อดังระดับโลกจากอเมริกาที่มากันแบบครบวงทั้ง 4 คนเพื่อร่วมส่งท้ายซีเกมส์ 2019 บนดินแดนตากาล็อก
และเป็นการประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า ซีเกมส์ ในแบบของ ฟิลิปปินส์ ได้จบลงไปพร้อมกับการเป็น "เจ้าเหรียญทอง" แบบสมใจเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว
แสดงความคิดเห็น